Tuesday, 28 April 2020 09:41

GNSS คืออะไร

spacgpsnavstariiaiiriifconstellationlg

          GNSS ย่อมาจาก Global Navigation Satellites System คือ ระบบเครือข่ายดาวเทียมนำทางที่โคจรรอบโลกซึ่งให้บริการสำหรับระบุตำแหน่งหรือค่าพิกัดบนพื้นผิวโลก ด้วยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวรับสัญญาณคลื่นวิทยุจากดาวเทียมที่ส่งมาอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถใช้งานได้ครอบคลุมทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีระบบดาวเทียม GPS ที่เราคุ้นเคยเป็นส่วนหนึ่งในระบบดาวเทียม GNSS นี้ด้วย ในปัจจุบันได้มีระบบดาวเทียมของประเทศอื่นๆที่โคจรและให้บริการอยู่เช่นกัน ประกอบด้วย

  1. GPS (Global Positioning System) ของสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยดาวเทียม 31 ดวง โคจรอยู่ใน 6 ระนาบ ที่ระดับความสูงประมาณ 20,200 กิโลเมตร 
  2. GLONASS ของสหพันธรัฐรัสเซีย ประกอบด้วยดาวเทียม 24 ดวงและสำรองอีก 2 ดวง โคจรอยู่ใน 3 ระนาบ ที่ระดับความสูงประมาณ 19,100 กิโลเมตร
  3. Galileo ของสหภาพยุโรป ประกอบด้วยดาวเทียม 24 ดวงและสำรองอีก 6 ดวง โดยโคจรอยู่ใน 3 ระนาบ ที่ระดับความสูงประมาณ 23,000 กิโลเมตร
  4. BeiDou หรือ BDS ของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยปัจจุบันกำลังขยายระบบดาวเทียมให้ครอบคลุมทั่วโลกให้มีจำนวนดาวเทียม 35 ดวงภายในปี 2020 โคจรที่ระดับความสูงประมาณ 21,100 กิโลเมตร
  5. IRNSS (Regional navigation Satellite System) ของประเทศอินเดีย เป็นระบบดาวเทียมระดับภูมิภาคซึ่งให้บริการเฉพาะประเทศอินเดียและพื้นที่ใกล้เคียงในระยะ 1,500 กิโลเมตร ประกอบด้วยดาวเทียม 7 ดวง
  6. Quasi-Zenith Satellite System (QZSS) ของประเทศญี่ปุ่น เป็นระบบดาวเทียมระดับภูมิภาค ที่ครอบคลุมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย (Oceania) ขณะนี้มีดาวเทียม 4 ดวงที่โคจรอยู่เหนือพื้นโลก และมีแผนจะเพิ่มเป็น 7 ดวงภายในปี 2024

          โดยสรุป GNSS คือ ระบบดาวเทียมนำทางซึ่งใช้ระบุพิกัดตำแหน่งของผู้ใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บนพื้นโลก ซึ่งบริเวณพื้นที่ใดรับสัญญาณดาวเทียมได้มากก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่ตำแหน่งมีความถูกต้องมากขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า  ‘More Satellites means more accuracy’ ทำให้ในปัจจุบันหน่วยงานที่ดูแลระบบดาวเทียมต่างๆยังพยายามพัฒนาดาวเทียมและส่งขึ้นสู่อวกาศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้งานระบบดาวเทียม GNSS มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Capture

 

 

Read 16312 times Last modified on Thursday, 14 May 2020 09:13